หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2565

ภาพรวมหลักสูตร

ปรัชญา :

หลักสูตรนี้มุ่งมั่นในการศึกษา วิจัย เพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่คุณธรรมจริยธรรม และรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันดีของประเทศ และผลิตบัณฑิตสาขาจุลชีววิทยา อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับปณิธานของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่ว่า “การศึกษา วิจัย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรากฐานที่ดีของการพัฒนาประเทศ”

ความสำคัญ :

ด้วยเหตุที่จุลินทรีย์เป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความหลากหลายและสำคัญของประเทศ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการผลิตหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ นับเป็นสินค้าหรือบริการในเศรษฐกิจชีวภาพที่สามารถสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ อีกทั้งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากขึ้น รวมทั้งปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพทำให้สามารถพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้มีศักยภาพในการผลิตสารมูลค่าสูงขึ้น รวมกับการให้ความสำคัญทั้งมิติการพัฒนาด้านการพัฒนาคน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่มีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของประเทศไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โดยมุ่งสร้างเศรษฐกิจบนฐานของการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และใช้ทรัพยากรฐานชีวภาพ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และหรือผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิต รวมถึงการเพิ่มคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณของผลผลิต นอกจากนี้ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมด้วย ดังนั้นหลักสูตรจุลชีววิทยาอุตสาหกรรมจึงมุ่งเน้นผลิตบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ รวมทั้งมีศักยภาพสามารถแข่งขันในยุคเศรษฐกิจชีวภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว และเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ชื่อหลักสูตร (ภาษาไทย) :

วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม

ชื่อหลักสูตร (ภาษาอังกฤษ) :

Bachelor of Science Program in Industrial Microbiology

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา :

  • - เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิต ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
  • - ฝ่ายควบคุมกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์
  • - ผู้ตรวจประเมินมาตรฐานอุตสาหกรรม
  • - นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
  • - เจ้าหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบคุณภาพทางด้านจุลินทรีย์