หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม หลักสูตรปี พ.ศ. 2565

ภาพรวมหลักสูตร

ปรัชญา :

มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ และเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีรากฐานจากความคิด การปฏิบัติและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับสหศาสตร์ต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถนำความรู้ไปประยุกต์และเสริมแนวทางของนวัตกรรมได้

ความสำคัญ :

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ประเทศไทยต้องการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยการพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นก้าวหน้าที่เข้มข้นมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการใช้ศักยภาพของทรัพยากรชีวภาพ โดยส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญ เร่งผลักดันให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีความโดดเด่นในด้านคุณภาพและความปลอดภัยในตลาดโลกเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมสำคัญด้านอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอด (First S-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) รวมถึงนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” โดยมีกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม อาทิเช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ยังต้องการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวทางพัฒนาผลักดันการคัดแยกขยะ เพื่อสนับสนุนการแปรรูปเป็นพลังงาน รวมถึง ร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคม เดินหน้าอย่างยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ดังนั้นหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565) จึงมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้ได้ตรงตามความต้องการในด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อช่วยการแข่งขันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป ซึ่งยังสอดคล้องกับปรัชญาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ว่า“การศึกษา วิจัย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรากฐานที่ดีของการพัฒนาประเทศ”

ชื่อหลักสูตร (ภาษาไทย) :

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม

ชื่อหลักสูตร (ภาษาอังกฤษ) :

Bachelor of Science Program in Industrial Biotechnology

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา :

  • - ฝ่ายผลิต
  • - ฝ่ายตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ
  • - ฝ่ายวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์
  • - ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
  • - ผู้ตรวจประเมินมาตรฐานอุตสาหกรรม
  • - ผู้ช่วยนักวิจัย
  • - นักวิทยาศาสตร์
  • - เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา